mail
About

ประวัติความเป็นมา ของวัดกู่เหล็ก

ใน สมัยพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญไชย ชาติกำเนิดของพระนางจามเทวี มีที่มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน ทั้งจากตำนาน พงศาวดารและหลักฐานอื่นๆ ในตำนานจามเทวีวงศ์ กล่าวว่า พระนางเป็นธิดาของกษัตริย์แห่งกรุงละโว้ ได้เดินทางพร้อมพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฏกและช่างผู้มีฝีมือหลากหลายประเภทละ ๕๐๐ คน จากเมืองละโว้ สู่นครหริภุญไชย ในปีพุทธศักราช ๑๔๐๖ (อ้างอิงจาก จามเทวีวงศ์ ตำนานมูลศาสนา และมูลศาสนา สำนวนล้านนา)มีข้าราชบริพารตามเสด็จจำนวนมาก รวมทั้งพระสงฆ์ พราหมณ์ ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวิทยาต่างๆ ที่จะไปสร้างบ้านเมืองแห่งใหม่นั้นให้บริบูรณ์ยิ่งขึ้น หมู่คนทั้งหลายนั้นได้แก่

พระมหาเถระที่ทรงปิฎก ๕๐๐ รูป หมู่ปะขาวที่ตั้งอยู่ในเบญจศีล ๕๐๐ คน
บัณฑิต ๕๐๐ คน หมู่ช่างแกะสลัก ๕๐๐ คน
ช่างแก้วแหวน ๕๐๐ คน พ่อเลี้ยง ๕๐๐ คน
หมอยา ๕๐๐ คน ช่างเงิน ๕๐๐ คน
ช่างทอง ๕๐๐ คน ช่างเหล็ก ๕๐๐ คน
แม่เลี้ยง ๕๐๐ คน หมู่หมอโหรา ๕๐๐ คน
ช่างเขียน ๕๐๐ คน หมู่ช่างทั้งหลายต่างๆ ๕๐๐ คน

พระนางจามเทวีและข้าราชบริพารทั้งหมดได้เดินทางโดยกระบวนเรือขึ้นไปตามลำน้ำมุ่งสู่ดินแดนนครหริกุญไชยและสิ่งสำคัญ ๒ สิ่ง ซึ่งพระนางได้นำไปด้วย คือ พระแก้วขาว ซึ่งว่ากันว่าเป็นองค์เดียวกับที่ประดิษฐาน ณ วัดเชียงมั่น จ.เชียงใหม่เวลานี้องค์หนึ่ง กับ พระรอดหลวง ซึ่งประดิษฐานที่วัดมหาวัน

จ.ลำพูน อีกองค์หนึ่ง เรียกว่าแม่พระรอด บางตำนานกล่าวไว้ว่า ระหว่างที่ ยังมิได้เสด็จถึงนครหริกุญไชยนั้น พระนางได้ทรงศีลและฉลองพระองค์ขาวโดยตลอด เส้นทางที่เสด็จโดยชลมารคนั้นกินระยะเวลายาวนานกว่า ๗ เดือน โดยได้หยุดพัก ณ ตำบลต่างๆ ตามรายทาง ได้แก่
เมืองบางประบาง ว่ากันว่าจะเป็นปากบางหมื่นหาญ ใกล้ปากน้ำพุทราเวลานี้
เมืองคันธิกะ ว่ากันว่าจะเป็นนครสวรรค์
เมืองบุราณะ ยังไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองอะไรในปัจจุบัน
เมืองเทพบุรี ปัจจุบันคือ บ้านโดน
เมืองบางพล ปัจจุบันอยู่ใน จ.กำแพงเพชร
เมืองรากเสียด คือ เกาะรากเสียดเวลานี้
หาดแห่งหนึ่ง เกิดน้ำรั่วเข้าเรือพระที่นั่ง จึงเรียกกันต่อมาว่า หาดเชียงเรือ
ตำบลหนึ่ง พระนางจามเทวีทรงมีรับสั่งให้พระพี่เลี้ยงและข้าราชบริพารนำสิ่งของทั้งหลายอันเปียกชุ่มน้ำขึ้นตาก จึงเรียกสถานที่นี้ต่อมาว่า บ้านตาก

ตำบลหนึ่ง เป็นที่รวมน้ำแม่วังต่อกับแม่ระมิงค์ รี้พลทั้งหลายพากันง่วงเหงาอยู่ พระนางเองก็ดูเหงาๆ ไป จึงได้เรียกต่อมาว่า จามเหงา หรือ ยามเหงา ครั้นต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสามเงาในทุกวันนี้ ตำนานว่าพระนางโปรดให้สร้างวัดขึ้นแห่งหนึ่ง ประดิษฐานพระพุทธรูปและพระสาวกให้คนทั้งหลายสักการบูชาสรณาคมน์ ที่นั้นจึงได้ชื่อเวลาต่อมาว่า พุทธสมาคม ตำบลหนึ่ง มีแก่งน้ำมีหน้าผาชะโงกเงื้อมลงปรกแม่น้ำ ที่นั่นนางกำนัลคนหนึ่งเสียชีวิต พระนางจามเทวีจึงพระราชทานเพลิงศพและฝั่งอัฐิไว้ ต่อมาพระนางเสด็จลงสรง ทรงเสี่ยงสัตยาธิฐานว่า “ข้าน้อยจักนำพระศาสนาและราชประเพณีไปประดิษฐานยังแว่นแคว้นนครหริกุญไชยในครั้งนี้ หากเจริญรุ่งเรืองดังมโนรถอันมุ่งหมาย ขอเทพยดาจงดลบันดาลให้มีน้ำไหลหลั่งลงมาจากเงื้อมผานี้ให้ข้าน้อยได้สรงสรีระในกาลบัดนี้เถิด พอสิ้นคำอธิษฐาน ก็บังเกิดเหตุอัศจรรย์มี

อุทกธาราโปรยปรายหลั่งไหลตกลงมาจากเงื้อมผานั้นให้พระนางได้สรงสนานเป็นที่สำราญพระหฤทัย สถานที่นั้นจึงได้ปรากฏชื่อต่อมาว่า ผาอาบนาง ยังมีน้ำตกโปรยจากผาลงมาในลำน้ำจนถึงทุกวันนี้ ตำบลหนึ่ง ปรากฏว่ามีผาตั้งขวางทางน้ำอยู่ ไม่เห็นช่องที่เรือจะผ่านไปได้ พระนางจามเทวีจึงทรงมีรับสั่งให้คนไปสำรวจพบช่องทางน้ำเลี้ยวพันหน้าผานั้นอยู่อีกด้านหนึ่ง จึงเคลื่อนกระบวนเรือไปถึงบริเวณหน้าผา ณ ที่นั่น พระนางโปรดฯ ให้ช่างเขียนทำรูปช้างแปรหน้าคืนไว้ สถานที่นั้นจึงมีนามปรากฏต่อมาว่า ผาแต้มบ้าง ผาม่านบ้าง เพราะเหตุว่ารูปทรงของหน้าผาเหมือนผ้าม่านขวางลำน้ำไว้ เมืองร้างแห่งหนึ่ง ที่นี่พระนางจามเทวีทรงให้หยุดกระบวนเรือพักแรม ปรากฏว่ามีเต่าจำนวนมากมายมารบกวนคน สถานที่นั้นจึงเรียกว่า ดอยเต่า

ตำบลหนึ่ง มีชื่อว่า บ้านโทรคาม เป็นรมณียสถานอันพอพระทัยนัก พระนางโปรดฯ ให้พักแรมอยู่ ณ ที่นี้ และทรงสร้างพระสถูปขึ้นพระองค์หนึ่ง ประทานพระนามว่า วิปะสิทธิเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จได้มีพิธีฉลองและกระทำการสักการบูชาเป็นอันมาก ท่าเชียงทอง มีชาวบ้านหญิงชายพากันออกมาคอยรับเสด็จจำนวนมาก พระนางจึงทรงมีรับสั่งให้พระนางกำนัลผู้หนึ่งถามคนทั้งหลายนั้นว่า “ดูกร ชาวพ่อชาวแม่ทั้งหลาย แต่นี้ถึงนครหริกุญไชย ยังประมาณมากน้อยเท่าไร” คนเหล่านั้นตอบว่า “ข้าแต่มหาราชเทวีเป็นเจ้า แต่นี้ถึงนครหริกุญไชย นั้น ข้าทั้งหลายได้ยินมาว่าหนึ่งโยชน์แล”ด้วยเหตุดังกล่าว สถานที่นี้จึงได้ชื่อต่อมาว่า เมืองฮอด ได้มีการหยุดประทับแรมกันเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่าเชียงทองนั้นเอง

พระนางจามเทวีทรงมีพระดำริว่าแม้จะใกล้ชานเมืองหริกุญไชยแล้ว แต่ก็ควรจะหยุดพักกระบวนเรือและตั้งเมืองเล็กขึ้นบริเวณนอกเมืองเสียก่อน ไม่ ควรรีบร้อนเข้าไปในเมือง จากนั้นทรงปรึกษากับข้าราชบริพารทั้งหลายเพื่อกำหนดสถานที่ตั้งค่ายประทับแรม โหราจารย์ได้ถวายความเห็นให้ทรงเสี่ยงธนูดูตามประเพณีที่มีมาแต่ก่อน จึงโปรดฯ ให้กระทำดังนั้น ปรากฏว่านายขมังธนูน้าวคันศรส่งลูกธนูไปทางทิศเหนือด้วยกำลังแรง ลูกธนูไปตกอยู่ ณ สถานที่แห่งหนึ่งเป็นชัยภูมิอันเหมาะสม พระสงฆ์ทั้งหลายจึงถวายพระพรว่าพระนางควรจะหยั่งรากพระศาสนาลง ณ ที่นั้นเป็นเบื้องแรก พระนางจึงโปรดฯ ให้ก่อพระอารามขึ้น พร้อมด้วยพระมหาเจดีย์ยังจุดที่ลูกธนูตก และยังโปรดฯ ให้หล่อพระพุทธรูปเท่าพระองค์จริงบรรจุพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ในพระอาราม นอกจากพระพุทธรูปซึ่งพระนางโปรดฯ ให้สร้างเท่าพระองค์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุนั้นแล้ว บรรดาเสนามหาอำมาตย์ที่ตามเสด็จ เป็นต้นว่าพญาแขนเหล็ก และพญาบ่เพ็กก็โดยเสด็จพระราชกุศลสร้างพระพุทธรูปด้วยคนละองค์สององค์ พระพุทธรูปทั้งหลายจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองเหนือตั้งแต่นั้น

พระนางจามเทวีจึงทรงสถาปนาเมืองเล็กขึ้น ประกอบด้วยพระราชนิเวศน์เรือนหลวงสำหรับเสด็จประทับรวมทั้งที่พักคณะผู้ติดตามทั้งหมด พระนางและปวงเสนาประชาราษฏร์ที่ตามเสด็จต่างอาศัยอยู่ในเมืองเล็กนั้นด้วยความสุขสบาย สถานที่ดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า รมย์คาม และคนทั้งหลายเรียกกั้นสืบมาว่า บ้านระมัก จากนั้นท่านสุกทันตฤๅษีและนายควิยะได้เดินทางล่วงหน้าต่อไปยังเมืองนครหริกุญชัยเพื่อแจ้งข่าวการเสด็จมาถึง

ท่านสุเทวฤๅษีรวมทั้งไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลายพอทราบข่าวก็พากันตกแต่งพลับพลารับเสด็จไว้ทางทิศตะวันออก ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยเสด็จประทับตรัสพุทธพยากรณ์มาแต่ก่อน และสองข้างถนนที่จะเสด็จพระดำเนินด้วยราชวัตรฉัตรธงบุปผชาติต่างๆ จากนั้นท่านสุเทวฤๅษีจึงนำ ชาวเมืองเชิญเครื่องบูชาสักการะอย่างเต็มอัตราไปเฝ้าเตรียมรับเสด็จตั้งแต่ชานเมืองด้วยความปิติอย่างยิ่ง ไม่ช้ากระบวนเสด็จของพระนางจามเทวีก็มาถึงโดยสถลมารคพระนางเมื่อทอดพระเนตรเห็นท่านสุเทวฤๅษีซึ่งเปรียบเสมือนบิดาก็ตื้นตันพระทัยเสด็จออกจากราชยานมากราบ พระฤๅษีทั้งสองได้กราบบังคมทูลขอให้พระนางสละเพศนักพรตกลับเป็นกษัตริย์และขอให้ทรงเสวยราชย์ยังพระนครแห่งนี้ จากนั้นจึงแห่แหนพระนางไปยังพลับพลา ที่นั่นได้มีพระราชพิธีราชาภิเษก ท่านสุเทวฤๅษีกราบบังคมทูลเชิญพระนางเสด็จขึ้นประทับบนกองสุวรรณอาสน์เพื่อทรงสรงน้ำพระมูรธาภิเษกทและวันที่เสด็จขึ้นเสวยสิริราชสมบัตินั้นตรงกับวันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๗ ปีมะเมีย พุทธศักราช ๑๒๐๒พระชนมายุได้ ๒๖ พรรษา ปรากฏพระนามเมื่อทรงรับการราชาภิเษกในพระสุพรรณบัฏว่า พระนางเจ้าจามเทวี บรมราชนารี ศรีสุริยวงศ์ องค์บดินทร์ ปิ่นธานีหริภุญไชย เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว ๗ วัน พระครรภ์ได้ครบทศมาส พระนางจามเทวีจึงทรงมีประสูติกาลพระโอรส ๒ พระองค์ในวันเพ็ญเดือน ๓ ราชกุมารทั้งคู่ทรงศิริลักษณ์งามละม้ายกัน เป็นที่ปิติยินดีไปทั้งพระนคร พระนางได้พระราชทานนามพระเชษฐาว่า พระมหันตยศ และพระอนุชาว่า พระอนันตยศ

พระนางจามเทวี ทรงสถาปนาความรุ่งเรืองแก่นครหริภุญไชยของพระนางมากขึ้นไปอีก จนเป็นนครในอุดมคติที่มนุษย์ทั้งหลายใฝ่ฝันอย่างแท้จริง โดยตำนานนั้นกล่าวว่าอาณาประชาราษฎร์เป็นสุขสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติโดยถ้วนหน้า เฉพาะบ้านใหญ่นั้นมีจำนวนถึง ๔๐๐๐ บ้าน บ้านน้อยอีกเป็นอันมาก มีไร่นาเรือกสวนบริบูรณ์ และพสกนิกรต่างมีใจศรัทธาสร้างวัดขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒๐๐๐ แห่ง สำหรับถวายพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกมาจากละโว้ ๕๐๐ รูป แยกย้ายผลัดเปลี่ยนกันสั่งสอนเผยแผ่พระศาสนา วัดทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นต่อมาก็มี ภิกษุจำพรรษาเต็มพระอารามทุกแห่ง ยิ่งไปกว่านั้น พระนางยังโปรดฯ ให้เฟ้นหาบัณฑิตที่ชำนาญการสวดพระธรรมอีก ๕๐๐ คนสำหรับช่วยสวดพระธรรมในวัด ทั้ง ๒๐๐๐ แห่งนั้นด้วย บรรดาผู้คนซึ่งตามเสด็จพระนางจามเทวีมาแต่กรุงละโว้นั้น พระนางก็โปรดฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่กันทางทิศตะวันออกของพระนคร ชาวมิคสังครเดิมอยู่ทิศตะวันตก พวกที่รอดตายมาจาก รมยนครอยู่ทิศใต้ และตระกูลที่เกิดจากรอยเท้าสัตว์นั้นก็อยู่ภายในเมือง

ในตำนานมูลศาสนาและจามเทวีวงศ์กล่าวว่า ในลำดับต่อมาพระนางจามเทวีทรงอภิเษกพระมหันตยศซึ่งมีพระชนม์มายุ ๗ พรรษาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองหริภุญไชยแทนพระนาง และมีการมหรสพสมโภชเป็นเวลา ๗ วัน ๗ คืน ต่อมาก็อภิเษกพระอนันตยศขึ้นเป็นพระอุปราช รวมเวลาที่พระนางทรงเสวยราชย์ในกรุงหริภุญไชยได้ ๗ ปี เมื่อพระมหันตยศได้เสวยราชย์แล้ว ทรงดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งพระมารดาทุกประการ นครหริภุญไชยจึงยิ่งเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรดำรงอยู่ด้วยความสุข ในเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย มีแต่ความสงบร่มเย็นในพระศาสนา เมื่อถึงเวลานี้ พระนางจามเทวีก็เสด็จประทับอยู่ในพระราชสำนักแห่งพระนางด้วยความสุขอย่างบริบูรณ์แล้ว เช้าวันหนึ่งพระนางตื่นบรรทมขึ้นมา เป็นเวลาที่อากาศแจ่มใสน่าสบายอย่างยิ่ง พระนางยังทรงประทับอยู่ ณ ที่ไสยาสน์ ระลึกถึงห้วงเวลาทั้งหลายที่ผ่านมาแล้วบังเกิดความปิติในพระหฤทัยว่าสิ่งใดที่พระนางปรารถนาไว้เวลานี้พระนางก็ถึงพร้อมด้วยสิ่งนั้นแล้วทั้งหมด ทรงมีพระดำริว่า กัลยาณกรรมอันพระนางได้ทำมาแล้วในกาลก่อน พระนางจึงได้มาสำเร็จในชาตินี้ กรรมอันเป็นกุศล

ควรที่พระนางคิดทำไว้ในอนาคตก่อนที่จะชราภาพ ด้วยพระดำริเช่นนั้นเอง พระนางก็ทรงสรงน้ำ ฉลองพระองค์แล้วนำข้าราชบริพารออกสำรวจรอบพระนคร เห็นสถานที่ต่างๆ ที่เหมาะสมพระนางก็โปรดฯ ให้สร้างพระอารามแห่งใหม่ขึ้น ๔ มุมเมืองนั้น ได้แก่
วัดอรัญญิกกรัมมการาม ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพระนคร ทรงสร้างวิหารและพระพุทธรูป แล้วถวายให้เป็นที่อยู่แห่งสงฆ์ มีพระสังฆเถระเป็นประธาน
วัดอาพัทธาราม ทางทิศเหนือของพระนคร มีวิหารหลังหนึ่ง สำหรับพระสงฆ์ผู้มาแต่ลังการาม
วัดมหาวนาราม ทางทิศตะวันตกของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูป และกุฏิสำหรับให้พระสงฆ์จำพรรษา
วัดมหารัตนาราม ทางทิศใต้ของพระนคร สร้างพระวิหาร พระพุทธรูปอย่างงดงาม ให้พระสงฆ์จำพรรษาและเลี้ยงดูด้วยข้าวด้วยน้ำ อาณาประชาราษฎร์ต่างพากันอนุโมทนาและโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยการสร้างวัดเพิ่มเติม อีกเช่นกัน เมื่อถึงเทศกาลต่างๆ ก็พากันหอบลูกจูงหลานเข้าวัดฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่เว้นแม้แต่เสนามหาอำมาตย์ หริภุญไชยจึงเท่ากับเป็นพระพุทธนครอันรุ่งเรืองยิ่งนัก

ภาพพระอุโบสถในปัจจุบัน

วัดกู่เหล็ก